เมืองพัทยากิจกรรมค่าย THE 48 HOUR YOUNG FILM MAKER PROJECT PATTAYA โดยนายศิวัช บุญเกิด รองปลัดเมืองพัทยา เป็นผู้แทนนายกเมืองพัทยา กล่าวเปิดกิจกรรมค่าย THE 48 HOUR YOUNG FILM MAKER PROJECT PATTAYA ตามโครงการนำร่องหลักสูตรการเรียนการสอนด้านภาพยนตร์สำหรับโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยบุคลากรทางการศึกษา ครูและนักเรียนโรงเรียนในสังกัดเมืองพัทยา เข้าร่วมในกิจกรรม ณ ห้องประชุมโรงแรมอีสเทิร์น แกรนด์ พาเลซ พัทยา
เมืองพัทยา โดยหน่วยงานศึกษานิเทศก์ สำนักการศึกษา ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ได้แก่ อพท.3 พัทยา, TCCN, Perfect Link Consulting Group Co.,Ltd. และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำหนดจัดกิจกรรมค่าย THE 48 HOUR YOUNG FILM MAKER PROJECT PATTAYA ตามโครงการนำร่องหลักสูตรการเรียนการสอนด้านภาพยนตร์สำหรับโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุมโรงแรมอีสเทิร์น แกรนด์ พาเลซ พัทยา โดยเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการระยะเวลา 3 วัน 2 คืน แก่ผู้เข้าร่วมการอบรม ประกอบด้วย บุคลากรทางการศึกษา ครูและนักเรียนโรงเรียนในสังกัดเมืองพัทยา จำนวน 95 คน ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนด้านภาพยนตร์สำหรับโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยใช้กระบวนการสร้างภาพยนตร์สั้น ตลอดจนเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนค้นพบศักยภาพของตนเองอย่างรอบด้าน และปลูกจิตสำนึกในความรักท้องถิ่นเมืองพัทยา
สำหรับการทำหนังสั้นในปีการศึกษา 2566 ครั้งนี้ คณะผู้จัดทำได้มอบโจทย์ให้ผู้เข้ารับการอบรมเพื่อสร้างหนังสั้นสำหรับถ่ายทอดเรื่องราวของเมืองพัทยา ใน 6 หัวข้อ คือ
1. การจัดการขยะที่ต้องทำจากต้นทางร่วมกัน
2. ภาพลักษณ์ความเท่าเทียมของความหลากหลายทางเพศ
3. ความสนุกสนานของเทศกาลต่างๆ ที่มีในพัทยา
4. ระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
5. จำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นที่แข็งแรงแต่อยู่อย่างเงียบเหงา
6. เด็กคือผู้นำสำคัญในการสร้างเมืองสร้างสรรค์
โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทำภาพยนตร์ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ วิศาลสิงห์ และคณะ ร่วมให้ความรู้และคำชี้แนะนำ ตั้งแต่การเขียนบท การถ่ายทำ การตัดต่อ และมีการจัดแสดงผลงานของผู้เข้าอบรม ภายใต้แนวคิด “งานมินิฟิล์มเฟส 2023” อีกด้วย
ทั้งนี้ หลักสูตรการเรียนการสอนด้านภาพยนตร์ที่โรงเรียนสังกัดเมืองพัทยาจัดทำขึ้น นับว่าเป็นงานใหญ่ที่สำคัญ และน่าสนใจยิ่ง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมสนับสนุนด้าน Soft Power ของรัฐบาล ในการส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ประกอบกับนโยบาย Better Pattaya ในเป้าหมายที่ 4 การเตรียมความพร้อมบุคลากร การพัฒนาระบบการศึกษาของเมืองให้เป็นโรงเรียนทางเลือกเพื่อมุ่งสู่อาชีพในฝัน รวมทั้งการพัฒนาดิจิทัล Mindset เพื่อให้เยาวชนของเมืองพัทยาก้าวสู่โลกที่มีเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค โดยเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาครั้งนี้ก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองสู่เครือข่ายเมือง สร้างสรรค์ (Creative Cities Network) ประเภทเมืองแห่งภาพยนตร์ (City of Film) ของยูเนสโก ภายในปี 2570 ต่อไป..
ข่าว : นางสาวขวัญใจ ซื่อตรง
ภาพ : นายธนพงศ์ อุ่นมาก
ฝ่ายการประชาสัมพันธ์ ส่วนอำนวยการ
สำนักการท่องเที่ยวและกีฬา












